Sale!

เมืองที่มองไม่เห็น โดย อิตาโล คัลวีโน

195 ฿

เมืองที่มองไม่เห็น นับเป็นวรรณกรรมทดลองที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่งของคัลวีโน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1972 ประกอบด้วยกรอบเรื่องคือบทสนทนาระหว่างกุบไล ข่านกับมาร์โค โปโล เกี่ยวกับอาณาจักรของข่านและการเดินทางของโปโล ส่วนเรื่องสั้นมีจำนวนทั้งหมด 55 เรื่อง เป็นเกร็ดเกี่ยวกับเมืองต่างๆ ที่โปโลได้เดินทางไป แต่ละเมืองที่โปโลเอ่ยถึงล้วนเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความประหลาดพิสดาร และพรรณนาอย่างวิจิตรราวกับกวีนิพนธ์

อื่นๆ

ISBN

978-616-91833-8-9

ผู้เขียน

อิตาโล คัลวีโน

ผู้แปล

นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ

บรรณาธิการแปล

ชัตสุณี สินธุสิงห์

บรรณาธิการ

พจนรรฏ สุทธิพินิจธรรม

บทความอื่นๆ ในเล่ม

สุรเดช โชติอุดมพันธ์, "เผชิญหน้ากับเขาวงกตในเมืองที่มองไม่เห็น"

ภาพปก

Pianissimo Press

รายละเอียด

ความน่าสนใจของ เมืองที่มองไม่เห็น อยู่ที่วิธีการจัดรูปแบบเรื่องเล่าที่ทำให้คัลวีโนดูเหมือนกับนักมายากลผู้จัดกลุ่มเรื่องต่างๆ และควบคุมกำกับให้อยู่ในกรอบเรื่องอย่างระมัดระวัง คัลวีโนแบ่งเนื้อหาทั้งหมดออกเป็น 9 บท โดยแต่ละบทจะมีกรอบเรื่องปิดหัวปิดท้าย และเกร็ดสั้นๆ เกี่ยวกับเมืองซึ่งจัดอยู่ภายใต้หัวข้อทั้งหมด 11 หัวข้อด้วยกัน คือ:

  1. เมืองกับความทรงจำ
  2. เมืองกับความปรารถนา
  3. เมืองกับเครื่องหมาย
  4. เมืองเร้นบาง
  5. เมืองกับการแลกเปลี่ยน
  6. เมืองกับสายตา
  7. เมืองกับชื่อ
  8. เมืองกับคนตาย
  9. เมืองกับท้องฟ้า
  10. เมืองต่อเนื่อง
  11. เมืองลับแล

ซึ่งแต่ละหัวข้อก็จะประกอบด้วยเกร็ดเรื่องเมืองทั้งหมด 5 เรื่อง รวมเป็นเกร็ดเรื่องเกี่ยวกับเมือง 55 เมืองที่โปโลเดินทางไป

มีผู้พยายามถอดรหัส ตีความ หรือพยายามทำความเข้าใจตรรกะในงานชิ้นนี้ของคัลวีโนไปต่างๆ นานา บางท่านเสนอว่าคัลวีโนได้วางแผนการนำเสนอเกร็ดเรื่องเมืองต่างๆ อย่างรัดกุมและระมัดระวัง โดยมีรูปแบบทางคณิตศาสตร์กำกับซ่อนอยู่ บ้างก็ว่าเมืองแต่ละเมืองที่โปโลพูดถึงทำให้เราตระหนักได้ถึงความสับสนในการจำแนกระหว่างความจริงและมายา บางท่านเห็นว่าผลงานเรื่องนี้ไม่อาจสรุปใจความออกมาให้สั้นกระชับได้ หากทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนถูกมนต์สะกด ราวกับหลงทางเข้าไปในเขาวงกตที่วนเวียนไปตามทางเดินซ้ำซ้อน แต่ก็เต็มไปด้วยความฉงนใจกับสิ่งของที่ดูผิดที่ผิดเวลา เช่นอากาศยาน ตึกระฟ้า โปสการ์ด หรือมอเตอร์ไซค์ ทั้งที่บทสนทนาตามท้องเรื่องน่าจะเกิดขึ้นช่วงศตวรรษที่ 13 ฯลฯ

คัลวีโนเคยพูดถึงงานชิ้นนี้ของเขาว่า

เมืองที่มองไม่เห็น เป็นงานที่มีผู้ชื่นชอบมากในสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับว่าน่าประหลาดใจ เพราะมันไม่เข้าข่ายงานอ่านง่ายของผมแน่ๆ มันไม่น่าจะนับว่าเป็นนวนิยาย ออกจะไปในทางรวมกวีนิพนธ์ในรูปแบบร้อยแก้วมากกว่า”

เมืองที่มองไม่เห็น ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมจากผู้รู้วรรณกรรรมและคนรักหนังสือ บรรดานักศึกษาอเมริกันในยุค 70 พากันกล่าวขวัญถึงหนังสือเล่มนี้ รวมทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินนำไปแต่งเพลงหรือดัดแปลงเป็นอุปรากร อย่างไรก็ตามแม้ เมืองที่มองไม่เห็น ดูจะเป็นที่ชื่นชอบจากกลุ่มผู้อ่านปัญญาชน แต่คัลวีโนก็ยังเชื่อว่าหนังสือของเขาเป็นหนังสืิอที่ทุกคนเข้าถึงได้ รูปแบบงานเขียนที่ซับซ้อนของเขามาจากการที่เขาชอบทดลองรูปแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

ช่วงก่อนคัลวีโนเสียชีวิตไม่นาน เขาเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานของเขาว่า

“ผมต้องการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อ่าน ผมอยากให้พวกเขาได้รับความเพลิดเพลิน ผมไม่ต้องการเป็นนักเขียนที่น่าเบื่อหน่าย แต่ในเวลาเดียวกัน ผมต้องการให้หนังสือของผมมีความหมาย และมีความสำคัญต่อวัฒนธรรมในยุคสมัยของเรา ผมปรารถนาที่จะได้พูดในสิ่งที่ไม่เคยมีใครพูดมาก่อน ที่จะพูดในสิ่งที่มิอาจจะสื่อได้ด้วยวิธีอื่นยกเว้นผ่านวรรณกรรรม”

เมืองที่มองไม่เห็น จึงนับเป็นงานที่ท้าทาย ซึ่งผู้อ่านจะได้พบกับ “สิ่งที่มิอาจจะสื่อได้ด้วยวิธีอื่นยกเว้นผ่านวรรณกรรรม” เพราะคัลวีโนเชื่อว่า “วรรณกรรมคือภาษาที่สามารถพูดในสิ่งที่ภาษาอื่นๆ ไม่สามารถพูดได้” เฉกเช่นการได้พบกับ “แห่งหนอื่น” ตามประโยคอันโด่งดังของมาร์โค โปโลในหนังสือเล่มนี้ที่ว่า

“แห่งหนอื่นคือกระจกโค้งนูน นักเดินทางมองเห็นสิ่งที่เป็นของเขาเพียงน้อยนิด ขณะค้นพบสิ่งที่เขาไม่เคยมีและจะไม่มีมากมาย”