บทจTALK ตัดสินปกจากหนังสือ

บทจTALK ครั้งแรกนี้ บทจรได้รับเกียรติจากพี่แป๋ง (ดุษฎี ฮันตระกูล) และพี่เมย์ (pianissimo press) มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองในฐานะนักออกแบบ ซึ่งมีภูมิหลังและรูปแบบการทำงานที่ต่างกัน แต่จุดร่วมอย่างหนึ่งคือทั้งคู่ต่างทำงานออกแบบปกหนังสือกับบทจรเป็นชิ้นแรก

พี่เมย์เล่าว่าเล่ม หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่งซึ่งเป็นผลงานออกแบบชิ้นเริ่มต้นได้ทดลองใช้เทคนิคทำให้ปกที่พิมพ์แบบทั่วไป (แบบออฟเซ็ต) มีรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับการพิมพ์แบบเล็ตเตอร์เพรส (แบบสร้างแม่พิมพ์ต้นแบบแล้วใช้มือกดพิมพ์งานทีละแผ่น) และออกแบบลวดลายโดยตีความตัวบทเล่มนั้นว่าคือการเดินทางแว่บไปมาระหว่างเล่มหนังสือ ตอนทำเล่มนี้ พี่เมย์ยังไม่ได้อ่าน มาร์โควัลโดและเมืองที่มองไม่เห็น ผลงานของนักเขียนท่านเดียวกันที่จะตีพิมพ์เป็นลำดับถัดไปและมาทราบภายหลังว่าต้องออกแบบต่อ แม้จะพบว่าทั้งสามเล่มมีเนื้อหาและรูปแบบที่ต่างกันพอดู พี่เมย์ก็พยายามวางแผนออกแบบให้เข้าพวกกันโดยยังคงลักษณะเด่นหรือสัญญะบางอย่างที่บ่งบอกถึงความเป็นตัวบทของแต่ละเล่มเอาไว้ และสุดท้ายก็หาแนวทางทำให้ทั้งสามเล่มเป็นชุดเดียวกันได้สำเร็จ

ส่วนการถ่ายทอดแนวคิดทำงานนั้น ทางสำนักพิมพ์จะขอให้ศิลปินได้อ่านหนังสือด้วยตนเองจนจบทั้งเล่มก่อน โดยไม่ต้องกังวลกับเงื่อนไขด้านเวลานัก เพราะคิดว่ารายละเอียดในหนังสือวรรณกรรมมีเยอะ และเพราะวรรณกรรมเป็นหนังสือประเภทที่ทุกคนอ่านได้ จึงอยากให้ศิลปินมีพื้นที่ในการตีความและสร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่ ซึ่งถ้ารับแบบสรุปย่อจากสำนักพิมพ์ไป จะเป็นการตีความชั้นหนึ่งจากสำนักพิมพ์ก่อน ส่วนข้อที่ว่ามีบ้างมั้ยที่ศิลปินไม่ได้อ่านหนังสือเอง แต่รับเป็นสรุปเนื้อหาย่อแล้วสร้างผลงาน คงต้องยอมรับว่าก็มีหนังสือที่ตัวบทอาจจะอ่านไม่ง่ายนัก เช่นงานวิทยาศาสตร์เฉพาะทาง หรืองานปรัชญาที่ซับซ้อน และเคยได้ฟังมาบ้างว่าศิลปินอาจจะได้รับ ‘บรีฟ’ หรือสรุปแบบย่อในลักษณะนั้นมาใช้ในการออกแบบก็ได้ อย่างไรก็ดี กับศิลปินที่ทำงานด้วยกัน บทจรจะแนะนำให้อ่านทั้งเล่มเองก่อน

ส่วนการทำงานของพี่แป๋งอาจจะต่างไปจากพี่เมย์บ้าง เพราะได้รับโจทย์มาอีกอย่างว่าไม่อยากได้งานที่สวยตามแนวทางการออกแบบปกขณะนั้น และพี่แป๋งเองก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานปกให้สำนักพิมพ์มาก่อน ที่เคยทำเป็นภาพปกหนังสือพิมพ์เองซึ่งสามารถออกแบบ พลิกแพลง ใส่องค์ประกอบที่ต้องการลงไปได้เต็มที่ แต่กับงานที่ทำให้คนอื่นยังจับทางไม่ถูกนัก งานเล่มแรกจึงออกไปในทางทดลองเสียมาก มีการเสนอแนวทางหลายแบบ และค้นข้อมูลหลากแนวทาง ทั้งค้นหารูปถ่ายในช่วงเวลานั้น หรือใช้ Google Street View ไปดูสถานที่จริงตามท้องเรื่อง เพราะคิดว่าลักษณะเด่นของหนังสือคือบรรยายได้เห็นภาพ พี่แป๋งเล่าว่ามีความท้าทายอย่างหนึ่งระหว่างทำงาน คืออยากพยายามผลักหรือหาทางเล่นให้ไกลจากโจทย์ต้นทางให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทำภาพต้นร่างมาให้เลือกจำนวนหนึ่ง ทั้งหมดล้วนเล่นกับตัวบทที่มีความรุนแรงและบรรยากาศน่าคลื่นเหียนเป็นหัวใจสำคัญ สุดท้ายสำนักพิมพ์เลือกแนวทางที่พี่แป๋งตีความจากส่วนตัวบทที่เล่นกับสีซึ่งตีความจากอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ของตรูฆิโย จอมเผด็จการที่เป็นหนึ่งในตัวละครหลักของเรื่อง

ผู้ดำเนินรายการได้ร่วมแลกเปลี่ยนว่าเมื่อแรกเห็นปกที่พี่แป๋งออกแบบนั้น ตัวปกดูไม่ค่อยดึงดูดนัก แต่พออ่านจบแล้วกลับไปดูปกอีกครั้ง กลับคิดว่าเป็นปกที่น่าประทับใจมาก เพราะทุกองค์ประกอบต่างสะท้อนความไม่น่ามองของตัวบทออกมาได้เป็นอย่างดี จึงนำไปสู่คำถามที่ว่า หน้าที่ของปกควรจะดึงดูดสายตาคนอ่านเมื่อแรกเห็น หรือควรจะทำหน้าที่ช่วยตีความหรือกระทั่งเล่าเรื่องของวรรณกรรม ผู้ดำเนินรายการยังให้ข้อมูลเพิ่มว่าด้วยชื่อหนังสือและลักษณะปกของยัญพิธีเชือดแพะ ถึงกับทำให้ร้านหนังสือบางแห่งนำไปวางในหมวดหมู่โหราศาสตร์แทนที่จะเป็นวรรณกรรม (ซึ่งพี่แป๋งชอบลักษณะนี้มาก เพราะอยากให้ปกเฉไฉไปจากแนวคิดต้นทาง) อย่างไรก็ดี ผู้ฟังท่านหนึ่งได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนว่า ไม่คิดว่าปกหนังสือเล่มนี้ส่งนัยสำคัญต่อเขาทั้งก่อนหรือหลังอ่านนัก เขาชอบหนังสือที่เนื้อหาข้างในมากกว่า ทั้งนี้ก็เสริมว่าหากให้เลือก คงปิ๊งกับหนังสือที่ปกดึงดูดสายตามากกว่า อย่างเช่นเวลาเดินเข้าร้านหนังสือ ท่ามกลางงานปกที่ดูไปในแนวทางเดียวกัน ถ้าหากมีเล่มไหนเด่นสะดุดตาขึ้นมาก็มักรู้สึกสนใจเล่มนั้นก่อน

ผู้ฟังอีกท่านร่วมเสนอความคิดที่ไม่เชิงคล้ายและไม่ใคร่ต่าง เพราะแบ่งหนังสือที่ซื้อเป็นสองประเภท นั่นคือหนังสือสำหรับสะสม ที่จะต้องสวยงามสมบูรณ์ในองค์รวม กล่าวคือให้ความสำคัญกับทั้งตัวเล่ม หน้าปก การพิสูจน์อักษร การจัดหน้า ระยะห่างระหว่างบรรทัด กระดาษที่ใช้ ฯลฯเมื่อพบหนังสือที่ถูกใจก็จะซื้อเก็บไว้ จนกลายเป็นการสะสมหนังสือเรื่องเดียวกันหลายปก และอีกประเภทคือหนังสือสำหรับอ่าน ที่มีไว้เพื่ออ่านตามชื่อ ให้ความสำคัญกับเพียงเนื้อหาและไม่สนรูปลักษณ์ใดๆ

และยังมีผู้ฟังท่านที่มาร่วมแลกเปลี่ยนในฐานะที่อยู่ในแวดวงหนังสือทำมือ หรือที่เรียกกันว่า ‘self-published’ โดยมักเลือกซื้อหนังสือจากชื่อนักเขียนอิสระที่ชื่นชอบ หรือศิลปินผู้ออกแบบปกที่ติดตามผลงานโดยเฉพาะ เมื่อทราบว่าหนังสือเล่มใดเขียนโดยนักเขียนหรือศิลปินในดวงใจก็มีแนวโน้มสูงว่าจะซื้อไว้ก่อน ถ้าเป็นหนังสือจากสำนักพิมพ์ ด้วยความที่มีหนังสือมากมายจึงมักหยิบเล่มที่ปกสะดุดตา หรือมีอะไรบางอย่างเกี่ยวกับตัวเล่มนั้นๆ ที่สะกิดใจ แต่บ่อยครั้งที่ตามเก็บหนังสือมือสอง ปกหรือความสวยงามก็จะไม่สำคัญเท่าไร

ผู้ดำเนินรายการจึงร่วมแลกเปลี่ยนด้วยการชวนให้พิจารณาเรื่องฉบับพิมพ์ รวมไปถึงพฤติกรรมของนักอ่านที่มีต่อฉบับพิมพ์ที่แตกต่างกันไป นักอ่านบางท่านสนใจอ่านอย่างเดียว ไม่สนใจสภาพหนังสือ บางครั้งจะซื้อหนังสือมือสองมาเพื่ออ่าน หรือบางครั้งอ่านเสร็จแล้วก็ขายต่อ หรือกระทั่งอ่านแล้วทิ้งเลย นักอ่านแนวทางนี้ไม่น่าจะให้ความสำคัญกับปกหนังสือนัก ขณะที่นักอ่านบางกลุ่ม อ่านหนังสือแล้วเก็บ (หรือกระทั่งซื้อมาเพื่อเก็บโดยไม่อ่าน) หรือเสาะหาหนังสือเล่มเดียวกันที่มีปกแตกต่างกัน นักอ่านกลุ่มนี้อาจเรียกได้ว่ามีความเป็นนักสะสมอยู่ด้วย ปกหนังสือและรูปเล่มน่าจะมีความสำคัญต่อนักอ่านกลุ่มนี้

ผู้ฟังยังแลกเปลี่ยนต่อว่าหนังสือบางแนว ปกอาจจะมีความหมายบางอย่างที่บ่งบอกถึงแนวทางของหนังสือด้วย การออกแบบปกหนังสือกลุ่มนี้จะมีหลักบางอย่างที่ต้องดำเนินตาม ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชนนักอ่านแนวนั้น ผู้ดำเนินรายการจึงแลกเปลี่ยนต่อไปว่าเคยทำหนังสือแนวหนึ่งที่พบเสียงสะท้อนจากนักอ่านเช่นนี้กับหนังสือแนวไซ-ไฟ ซึ่งผู้อ่านท่านนั้นเห็นว่าแนวทางนี้เป็นปัญหาที่ทุกสำนักพิมพ์มักประสบพบเจอร่วมกันเป็นปกติ

ช่วงท้ายของการพูดคุย ผู้ดำเนินรายการตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อเห็นลักษณะการทำงานปกที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทรัพยากรไม่น้อย ทั้งทุนทรัพย์ แรงงาน และเวลา จึงชวนผู้อ่านพูดคุยว่า หากมีแนวทางที่ทำให้ได้ปกหนังสือทีี่สวย ประหยัด ไม่เปลืองทรัพยากร อย่างเช่นนำงานที่เป็นสาธารณะแล้ว (public domain) มาใช้ โดยเลือกภาพที่เข้ากับตัวบท ทั้งยังสวยงาม และทำให้ราคาหนังสือถูกลงตามค่าใช้จ่าย อยากถามนักอ่านที่ฟังอยู่ว่าคิดเห็นอย่างไร น่าสนใจหรือไม่ ผู้ฟังร่วมแสดงความคิดเห็นว่าหนังสือแนวนี้คงจะคล้ายๆ ของสำนักพิมพ์ฝรั่งบางสำนักพิมพ์ ซึ่งตัวเขาถ้าต้องการอ่าน คงซื้อมาอ่าน แต่ไม่เก็บไว้หลังอ่านจบ คงเลือกเก็บไว้เฉพาะฉบับพิมพ์ที่ประทับใจ

ผู้ดำเนินรายการจึงลองแลกเปลี่ยนลักษณะที่เกิดขึ้นอีกอย่างของการให้ความสำคัญกับการทำปก คือการพยายามสร้างงานต้นแบบใหม่ขึ้นมา โดยอ้างถึงประสบการณ์ว่าเคยเห็นงานออกแบบที่ประทับใจ ทำให้นับถือคนทำงานชิ้นนั้นมาก ครั้นพอโตขึ้นได้เห็นงานมากขึ้น ค่อยเห็นว่างานที่เคยประทับใจนั้น “คล้ายคลึง” กับงานชิ้นอื่นที่เคยมีคนทำก่อนหน้า ซึ่งส่งผลกระทบบางอย่างต่อความประทับใจที่เคยมี หากวกกลับมาถึงการทำปก การสนับสนุนการทำปกอย่างจริงจัง อาจจะมีความหมายบางอย่างก็ได้

ผู้ดำเนินรายการอีกท่านได้ร่วมแลกเปลี่ยนก่อนจบการสนทนาว่าการหลีกเลี่ยงอิทธิพลใดๆ ในโลกศิลปะและงานสร้างสรรค์คงเป็นไปได้ยาก ดังคำกล่าวที่ว่า ‘ศิลปะส่องทางให้แก่กัน’ งานแต่ละชิ้นย่อมเป็นผู้รับและผู้ส่งต่อแนวทางความคิด จากชิ้นหนึ่งๆ สู่ชิ้นอื่นๆ งานออกแบบปกก็คงอยู่ในกระแสของการรับและการส่งต่อที่ว่านี้ ทว่าการ ‘รับ’ อิทธิพลก็มีขอบเขตของมันอยู่ ตราบใดที่ผลลัพธ์ท้ายสุดสะท้อนความเป็น ‘ตัวผู้สร้าง’ และไม่เหลือ หรือแทบไม่เหลือเค้าแรงบัลดาลใจก็นับว่าเป็นผลงานสร้างใหม่ได้ แต่หากยังมองเห็น ‘ลายเซ็น’ อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปินท่านอื่นๆ ในนั้น คงพูดยากว่าเป็นการถือกำเนิดใหม่ของผลงาน หรือในกรณีที่เป็นการสร้างผลงานตาม ‘school’ หรือรูปแบบอันเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติกันในบางกลุ่มบางพวก ทำให้เกิดแนวทางการสร้างงานคล้ายคลึงอย่างไม่อาจเลี่ยง นักอ่านท่านหนึ่งซึ่งเห็นพ้องเสริมว่างานเขียนเองก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘โทรป (trope)’ หรือแนวการเขียนอยู่ (อย่างเช่นแนวโรงเรียนเวทมนตร์ แนวทะลุมิติ แนวซอมบี้ ฯลฯ) จะเห็นได้ว่างานเขียนที่จัดอยู่ในแนวเดียวกันจะมีองค์ประกอบหลักบางอย่างร่วมกัน โดยที่แตกต่างไปในรายละเอียด งานออกแบบปกที่ว่าสร้างตามแนวทางหรือรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก็อาจจะคล้ายกันในลักษณะนี้