Sale!

จำจากจร โดย แอลิซ มันโร

335 ฿515 ฿

  • นักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 2013
  • เรื่องสั้น 3 เรื่องใน จำจากจร (โอกาส อีกไม่นาน และ ความเงียบ) ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง Julieta โดยเปโดร อัลโมโดวาร์
รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

อื่นๆ

ผู้เขียน

แอลิซ มันโร

ผู้แปล

อรจิรา โกลากุล

บรรณาธิการแปล

พัณณิดา ภูมิวัฒน์

ออกแบบปก

Collage Canto

รายละเอียด

บันทึกเศษเสี้ยวความทรงจำระหว่างทางชีวิต หลากรสหลายแบบ ต่างวัยหลายสถาน

อดีตที่ผุดขึ้นในห้วงคำนึง ความรู้สึกเร้นลึกในห้องหับของจิตใจ ทั้งธรรมดาสามัญและเหนือคาดหมาย บางคราคือสุขที่ลับหาย บางครั้งท้าทายศีลธรรม

เรื่องสั้นของแอลิซ มันโร ประดุจร่องรอยจางของความทรงจำที่ผุดวาบ หากแต่ทรงพลังและติดตรึง ชวนพินิจโจทย์ชีวิตอันซับซ้อนผ่านเสี้ยวส่วนจากวันวานซึ่งส่องสะท้อนภาพทั้งชีวิต

  • จากจร
  • โอกาส
  • อีกไม่นาน
  • ความเงียบ
  • ปรารถนา
  • ก้าวล่วง
  • อุบาย
  • พลัง

แอลิซ มันโร ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 2013
เรื่องสั้น 3 เรื่องใน จำจากจร (โอกาส อีกไม่นาน และ ความเงียบ) ดัดแปลงเป็นภายนตร์เรื่อง Julieta โดยเปโดร อัลโมโดวาร์

แอลิซ มันโร (Alice Munro) เกิดวันที่ 10 กรกฎาคม 1931 ในเมืองวิงแฮม รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา แม่ของเธอเป็นครู ส่วนพ่อทำฟาร์มสุนัขจิ้งจอกและตัวมิงค์ หลังจบชั้นมัธยมปลาย มันโรศึกษาต่อด้านวารสารศาสตร์และภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออนแทรีโอ ทว่าเลิกเรียนกลางคันเพื่อแต่งงานกับ James Munro เพื่อนนักศึกษา ในปี 1951 ต่อจากนั้น เธอและสามีย้ายไปอยู่ที่เมืองวิคตอเรีย รัฐบริติชโคลัมเบีย ที่ซึ่งทั้งคู่ร่วมกันเปิดร้านหนังสือชื่อ Munro’s Books เธอมีลูกสาว 4 คน โดยคนหนึ่งเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด มันโรหย่ากับสามีคนแรกในปี 1972 และย้ายกลับไปอยู่ที่รัฐออนแทรีโอ โดยได้รับเชิญไปสอนช่วงสั้นๆ ที่มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออนแทรีโอ ที่ซึ่งเธอเคยเป็นนักศึกษานั่นเอง ต่อมาในปี 1976 มันโรแต่งงานอีกครั้งกับ Gerald Fremlin นักภูมิศาสตร์ ผู้ซึ่งเธอรู้จักตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ทั้งคู่ย้ายไปอยู่ที่บ้านหลังปัจจุบันของมันโรในเมืองคลินตัน ใกล้บ้านเกิดของมันโรทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐออนแทรีโอ Fremlin เสียชีวิตในปี 2013

มันโรเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่วัยรุ่น เรื่องสั้นของเธอตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ทว่ากว่าที่หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเธอ Dance of the Happy Shades จะได้ตีพิมพ์ก็ต้องรอจนถึงปี 1968 เมื่อเธออายุ 37 ปีแล้ว ต่อมาในปี 1971 หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มที่สอง Lives of Girls and Women ตีพิมพ์ตามมา และนักวิจารณ์เรียกมันว่า Bildungsroman หรือแนววรรณกรรมที่แสดงให้เห็นกระบวนการเติบโตและเรียนรู้ของตัวเอกทั้งในเชิงจิตวิทยาและมโนสำนึก

มันโรได้รับการยกย่องว่ามีความสามารถในการเล่าเรื่องที่ละเอียดอ่อนกระทบใจ ฉายให้เห็นความจริงอันสลับซับซ้อนในจิตใจมนุษย์ นักวิจารณ์บางคนเปรียบเธอว่าเป็น “เชคอฟของแคนาดา” เรื่องเล่าของเธอมักมีฉากเป็นเมืองเล็กๆ ที่ซึ่งตัวละครต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการยอมรับทางสังคม บ่อยครั้งส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดและความขัดแย้งทางศีลธรรม ปมปัญหามักเกิดจากความแตกต่างระหว่างคนต่างรุ่นและการปะทะกันของความทะยานอยากในชีวิต แม้ตัวบทจะบรรยายภาพชีวิตประจำวัน ทว่าภาพนั้นก็เป็นเหตุการณ์ที่เป็นจุดชี้ขาดชนิดที่เผยแสดงเรื่องราวแวดล้อมทั้งหมด แล้วปล่อยให้คำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของชีวิตวาบขึ้นอย่างฉับพลันทันใดในใจของผู้อ่าน

แอลิซ มันโรได้รับรางวัลต่างๆ มากมายนับไม่ถ้วน รวมถึงรางวัล The Man Booker International Prize ในปี 2009 ส่วนเกียรติยศสูงสุดคือได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2013 โดยได้รับการประกาศเกียรติคุณว่าเป็น “นักเขียนเรื่องสั้นร่วมสมัยผู้ยิ่งใหญ่” มันโรเกษียณอายุจากงานเขียนในเดือนมิถุนายน 2013

จำจากจร ได้รับการสนับสนุนการแปลจาก The Canada Council for the Arts
We acknowledge the support of the Canada Council for the Arts for this translation.
Nous remercions le Conseil des arts du Canada de son soutien.

คำนิยม

“งานของมันโรมักมีศูนย์กลางเป็นหญิงสาว บางคนเป็นแบบที่เราเคยเป็น บางคนเป็นแบบที่เราเป็น และบางคนเป็นแบบที่เราไม่มีวันจะเป็น เป็นอะไรหลายอย่างเท่าที่คนทั่วไปจะนึกจินตนาการได้ว่าผู้หญิงควรเป็น และเล่าอะไรหลายอย่างที่ถ่ายทอดสิ่งที่ผู้หญิงเราเป็นแล้วเป็นเล่าและเป็นได้ในประสบการณ์ความเป็นผู้หญิง แม้จะไม่มีใครคิดว่าผู้หญิงคนหนึ่งควรจะเป็นหรือควรจะมีความรู้สึกหรือห้วงขณะแบบนั้น

งานของมันโรทั้งหนักทั้งหน่วงทั้งดูดพลัง แต่ละเรื่องที่อ่าน ไม่ว่าจะใกล้เคียงกับประสบการณ์ชีวิตมากน้อยแค่ไหนก็ซึมลึกเข้าไปทำงานกับหัวใจอย่างอธิบายยาก ทั้งเหนื่อยและอิ่มจนสาแก่ใจ เหมือนหนังสโลว์เบิร์นที่ดูได้ปีละครั้งแต่ดูจบแล้วพร้อมตายตาหลับ สิ่งที่น่าทึ่งคือ หลายๆ ครั้งมันโรก็เลือกให้ตัวละครบอกกับเราว่าตัวเองไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกต่างๆ ณ เวลานั้นๆ ยังไง แล้วบางตัวละครก็เทียบเคียงความรู้สึกเจ็บปวดอธิบายยากนั้นกับอาการคล้ายๆ โดนเข็มเล่มหนึ่งทิ่มอยู่ในปอด ถ้าเผลอหายใจอย่างไม่ระวังมันก็ทิ่มซ้ำ”


ชนมน วังทิพย์

บรรณาธิการและนักพิสูจน์อักษร